เราจะพาคุณผู้ฟังมาทำความรู้จัก “ความรอบรู้ด้านสุขภาพ” จากหนังสือที่มีชื่อว่า “กระบวนการเรียนรู้ที่สร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพ” จัดทำโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งได้รวบรวมองค์ความรู้ด้านสุขภาพนำมาวิเคราะห์ จัดระบบเป็นกระบวนการสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพที่พึงประสงค์ ไว้อย่างเข้าใจง่ายและใช้ได้ทันทีค่ะ
องค์กรอนามัยโลก (WHO) ได้ให้ความหมายของความรอบรู้ด้านสุขภาพเอาไว้ว่า
“เป็นทักษะทางปัญญาและทักษะทางสังคมของบุคคล ก่อให้เกิดแรงจูงใจและสมรรถนะที่จะเข้าถึง เข้าใจและใช้ข้อมูลข่าวสารและบริการสุขภาพเพื่อส่งเสริมและบำรุงรักษาสุขภาพตนเองให้คงดีอยู่เสมอ” โดยมีเป้าหมาย คือ เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพดีและเกิดความรอบรู้ทางด้านสุขภาพ ซึ่งมีการกำหนดมาตรฐานสิ่งที่ประชาชนควรที่จะรู้ เริ่มตั้งแต่เด็กในโรงเรียนเป็นต้นไป ถูกจำแนกออกเป็น 3 ระดับ ดังนี้
ระดับที่ 1 : ความรู้รอบด้านระดับพื้นฐาน ได้แก่ สมรรถนะการอ่านและเขียนเพื่อให้สามารถเข้าใจถึงเนื้อหาสาระด้านสุขภาพ เช่น การอ่านใบยินยอม ฉลากยา ฉลากขนม การเขียนข้อมูล หรือการดูแลสุขภาพ
ระดับที่ 2 : ความรอบรู้ด้านสุขภาพขั้นการมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกัน ได้แก่ สมรรถนะการใช้ความรู้และการสื่อสาร เพื่อให้สามารถมีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพ เป็นการรู้เท่าทันทางปัญญา และทักษะทางสังคม ที่จะมีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพตนเอง เช่น การรู้จักซักถามผู้รู้ การถ่ายทอดอารมณ์และความรู้ที่ตนเองมีให้ผู้อื่นเข้าใจ
ระดับที่ 3 : ความรอบรู้ด้านสุขภาพขั้นวิจารณญาณ ได้แก่ สมรรถนะการประเมินข้อมูลด้านสุขภาพที่มีอยู่เพื่อให้สามารถตัดสินใจและเลือกปฏิบัติในการสร้างเสริมและรักษาสุขภาพของตนเองให้คงดีอย่างต่อเนื่อง
ท่านผู้ฟังที่สนใจสามารถเข้าไปอ่านระดับองค์กร-ชุมชน เพิ่มเติมได้ใน childimpact.co... ค่ะ
31 окт 2024